ประวัติความเป็นมาของพระเบญจภาคี
- panuwat tangnuanjun
- 21 ส.ค. 2567
- ยาว 1 นาที

เบญจ แปลว่า 5 ภาคี แปลว่า ผู้มีส่วนร่วมการนำพระเครื่องสำคัญ ๆ 5 องค์ มารวมกันเป็นชุดจึงเรียกว่า “เบญจภาคี” โดยปฐมบทเมื่อประมาณปี พ.ศ.2490 โดยอาจารย์ตรียัมปวาย หรือ ผ.อ.ผจญ กิตติประวัติ และกลุ่มผู้สนใจบูชาพระเครื่อง แรกเริ่มเป็นเพียง “ไตรภาคี” ประกอบด้วย พระสมเด็จ วัดระฆังโฆสิตาราม องค์แทนพระเครื่องสมัยรัตนโกสินทร์ เป็นองค์ประธาน เนื่องจากมีผู้เคารพศรัทธาในพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) เป็นอย่างมาก อีกทั้งพุทธคุณนั้นครอบจักรวาล ด้วยคาถาที่ปลุกเสก คือ ชินบัญชรคาถา โดยพระสมเด็จฯ มีรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดพอเหมาะแก่การนำมาเป็นพระองค์กลางสำหรับห้อยเป็นองค์แรกของชุด ตำแหน่งทางขวาต้องเป็นพระเก่าแก่ที่มีความนิยม จึงเป็นพระนางพญาพิษณุโลกพิมพ์เข่าโค้ง องค์แทนพระเครื่องสมัยอยุธยาที่สร้างโดยพระวิสุทธิกษัตริย์ พระมเหสีของพระมหาธรรมราชา พระราชชนนีของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และสมเด็จพระเอกาทศรถ มีพุทธคุณเด่นทางเมตตามหานิยม องค์ต่อมาสำหรับทางซ้าย ยังคงมีจุดประสงค์ในการจัดเข้าชุดว่าต้องเป็นพระเก่าแก่ที่มีความนิยมเช่นเดียวกัน คือ พระรอด กรุวัดมหาวัน จังหวัดลำพูน องค์แทนพระเครื่องสมัยทราวดีตอนปลาย (หริภุญชัย) ที่สร้างในสมัยพระนางจามเทวี เจ้าผู้ครองเมืององค์แรกของนครหริภุญชัย มีพุทธคุณแคล้วคลาดปลอดภัย ซึ่งภายหลังได้มีการจัดชุดเพิ่มจนเป็นพระเบญจภาคี โดยมีพระกำแพงซุ้มกอ กรุทุ่งเศรษฐี จังหวัดกำแพงเพชร องค์แทนพระเครื่องสมัยสุโขทัยที่พุทธคุณเด่นด้านโชคลาภ โภคทรัพย์ ห้อยคู่กับพระนางพญาและองค์สุดท้าย คือ พระผงสุพรรณ พิมพ์หน้าแก่ กรุวัดพระศรีมหาธาตุ จังหวัดสุพรรณบุรี องค์แทนพระเครื่องสมัยอู่ทอง ซึ่งตามการปรากฏตามจารึก ลานทองว่า พระมหาปิยะทัตสะสี ศรีสารีบุตร เป็นประธานในการสร้างบรรจุไว้ มีพุทธคุณเด่นด้านโภคทรัพย์ แคล้วคลาด อยู่ยง
การจัดชุดพระยอดนิยม “พระเบญจภาคี” จัดตามความเหมาะสมของความนิยมที่เป็นองค์แทนพระเครื่องที่สร้างในสมัยต่าง ๆ พร้อมทั้งพุทธคุณ และพุทธลักษณะที่ลงตัวในตำแหน่งการวาง ซึ่งพระเครื่องทั้ง 5 องค์ ข้างต้น เป็นเพียงประวัติความเป็นมาเพียงเบื้องต้นก่อนจะเข้าสู่เรื่องราวและตำนานที่สืบมาจนปัจจุบัน
Opmerkingen