พระเกจิอาจารย์ "หลวงพ่อพรหม ถาวโร" วัดช่องแค จังหวัดนครสวรรค์
- panuwat tangnuanjun
- 22 ส.ค. 2567
- ยาว 1 นาที

หลวงพ่อพรหม เกิดวันพฤหัสบดีขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 ปีระกา ตรงกับวันที่ 20 เมษายน 2427 ที่หมู่บ้านโก่งธนู ตำบลบ้านแพรกลำพะเนียง อำเภอมหาราช จังหวัดพระนครศรีอยุธยา บิดาชื่อนายหมี มารดาชื่อ
นางล้อม สกุลโกสลง อาชีพทำนา มีพี่น้องท้องเดียวกันรวม 4 คน
ขณะยังเยาว์วัยได้เข้าศึกษาที่วัดข้างบ้าน การศึกษาสมัยนั้น มีวัดเป็นสถานที่ให้การศึกษา หลวงพ่อพรหมได้เรียนกับพระพออ่านออกเขียนได้ สมัยก่อนตำราต่าง ๆ จารลงในใบลาน ตลอดถึงคัมภีร์ต่าง ๆ ทางพุทธศาสนาล้วนเป็นอักษรขอม หลวงพ่อจึงเรียนทั้งภาษาไทยและภาษาขอมควบคู่กันไป
ได้ศึกษาเล่าเรียนธรรมวินัยด้านปฏิบัติธรรม จนถึงปี พ.ศ. 2457 บวชได้ประมาณ 10 พรรษา ได้ออกเดินธุดงค์ไปตามที่ต่าง ๆ ขณะธุดงค์มาถึงเขาช่องแค เกิดฝนตกหนัก หลวงพ่อพรหมได้ขึ้นไปหลบฝนที่ถ้ำบนเขาช่องแค เกิดนิมิตจากวิญญาณที่สิงสถิตอยู่ในถ้ำ ประกอบกับถ้ำแห่งนี้วิเวกเหมาะกับการที่จะปฏิบัติธรรมนั่งกรรมฐานชั้นสูงได้อย่างสงบ จึงใช้ถ้ำแห่งนี้เพื่อจำพรรษา หลวงพ่อได้จำพรรษาบนถ้ำเขาช่องแค ณ เวลานั้นยังไม่มีวัด บริเวณด้านล่างเต็มไปด้วยป่ารกร้าง ต่อมากำนันคล้าย มีสวัสดิ์ นางแตงกวา ตั้งสุวรรณ แม่เผือก เพชรมนตรี พร้อมชาวบ้านอีกหลายท่านได้นิมนต์หลวงพ่อให้ลงจากถ้ำ มาจำพรรษาอยู่ด้านล่างแล้วเริ่มก่อสร้างวัดช่องแค ในปี พ.ศ. 2460
หลวงพ่อเดินทางไปขายที่นาอันเป็นมรดก ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นำเงินที่ได้ไปซื้อที่ดินสร้างวัดช่องแค โดยเริ่มสร้างกุฏิ โรงครัว ศาลาการเปรียญ และอุโบสถ

วัดช่องแค สร้างในสมัยรัตน์โกสินทร์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2460 จนถึงปัจจุบัน หลวงพ่อพรหมได้จำพรรษาที่วัดช่องแคเป็นเวลานานกว่า
60 ปี จนมรณภาพด้วยโรคชรา สิริอายุ 90 ปี 71 พรรษา
หลวงพ่อมีวิชาป้องกันตัว
หลวงพ่อเล่าว่า ขณะที่เดินสุดงค์ทุกครั้ง ไม่เคยตั้งอยู่ในความประมาท ก่อนที่จะปักกลดต้องสำรวจลู่ทางที่เหนือลมห่างจากทางเดินของสัตว์น้อยใหญ่ ท่านจะเลือกทำเลที่ไม่เบียดเบียนสัตว์ในการปักกลด กลางคืนก่อนนอนภาวนาอิติปิโส 8 ทิศ กำแพงแก้ว 7-9 ชั้นล้อมกลดไว้ป้องกัน ตอนเช้าทุกครั้งก่อนตอนกลดเพื่อจะเดินทางต่อไปจะต้องไม่ลืมท่องคาถาถอนกำแพงแก้ว 7-9 ชั้นออก มิฉะนั้นสัตว์ป่าที่หลงเข้าไปในบริเวณที่ปักกลดจะได้รับอันตรายถึงตาย แล้วจะเป็นบาป
อาจารย์วิชาไสยศาสตร์และคาถาอาคม
หลวงพ่อพรหมเคยเล่าให้ลูกศิษย์ใกล้ชิดฟังว่า ท่านเริ่มศึกษาวิชาไสยศาสตร์และคาถาอาคมจากอาจารย์ ซึ่งเป็นฆราวาส ชื่ออาจารย์พวง ต่อมาหลังจากอุปสมบทแล้วจึงได้ศึกษาอสุภกรรมฐาน สมถกรรมฐาน และวิปัสสนากรรมฐาน จากหลวงพ่อดำ ซึ่งเป็นพระสงฆ์ไม่ทราบวัดอยู่ประมาณ 4 ปี ในพรรษาที่ 5 อาจารย์พ่วงซึ่งเป็นอาจารย์คนแรกได้พาไปฝากอาจารย์ปู่วอน ซึ่งเป็นฆราวาสและได้ศึกษาวิชาแขนงต่าง ๆ เป็นเวลา 5 ปี เต็มจนกระทั่งอาจารย์ปู่วอนถึงแก่กรรม หลวงพ่อจึงนำกระดูกของท่านมาเก็บไว้ที่วัดช่องแค โดยทางอ้อมอาจมีการแลกเปลี่ยนวิชากับอาจารย์รุ่นพี่ เช่น หลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ
เหล่าท่านอาจารย์ของหลวงพ่อพรหม อาจารย์พ่วง เป็นศิษย์หลวงปู่มา วัดบางม่วง ซึ่งเป็นสายพระอาจารย์ของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ส่วนอาจารย์ปู่วอนซึ่งเป็นฆราวาส เป็นศิษย์หลวงปู่นิล วัดแควป่าสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ หลวงปู่แสง วัดมณีชลขันต์ จังหวัดลพบุรี และอาจารย์เพ็งซึ่งเป็นฆราวาส อาจารย์ทั้งสามท่านเป็นพี่น้องกัน และหนึ่งในสามท่านคือ หลวงปู่แสง ซึ่งเป็นอาจารย์ของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) วัดระฆัง ท่านได้เสาะแสวงหาเล่าเรียนกับพระอาจารย์อีกหลาย ๆ ท่าน จนวิชาอาคมแกร่งกล้า
ชาวบ้านเชื่อหลวงพ่อพรหมปากพระร่วงวาจาสิทธิ์
นางสาวเกลียวพันธ์ ตั้งสุวรรณ เป็นแม่ค้าขายข้าวแกงที่สถานีรถไฟช่องแค นำอาหารคาวหวานมาถวายหลวงพ่อเป็นประจำ พร้อมถวายเงินแก่หลวงพ่อ 500 บาท สมัยนั้น เงินจำนวน 500 บาท ถือเป็นเงินจำนวนมากหลวงพ่อให้พรพร้อมพูดเปรย ๆ ว่า "เอ็งมีเงินมากเอ็งใกล้จะเป็นเศรษฐีแล้ว" ไม่นาน นางสาวเกลียวพันธ์ ตั้งสุวรรณ ค้าขายจนกิจการรุ่งเรือง ร่ำรวยเป็นเศรษฐีตามคำให้พรของหลวงพ่อ
หลวงพ่อจะมีญาณสัมผัส และพลังจิต
คณะกรรมการวัดจัดสร้างรูปหล่อบูชาขนาด 5 นิ้ว นำไปให้หลวงพ่อปลุกเสกเพื่อให้เช่าบูชา พอตก ดึกเงียบสงัด หลวงพ่อจะนั่งปลุกเสกรูปหล่อทีละองค์ ในคืนหนึ่ง ๆ หลวงพ่อจะปลุกเสกรูปหล่อได้เพียงไม่กี่องค์ตามกำลังสมาธิที่ท่านสามารถทำได้ วันต่อมากรรมการวัดนำพระรูปหล่อที่ปลุกเสกแล้วมาวางซ้ำไว้แถวหน้าอีกครั้ง เหตุเพราะต้องการให้หลวงพ่อปลุกเสกซ้ำอีก แต่เมื่อหลวงพ่อสัมผัสรูปหล่อที่ปลุกเสกแล้ว ฌานรับรู้ได้ทันทีว่ารูปหล่อนั้นได้ทำการปลุกเสกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว หลวงพ่อจึงแต้มแป้งขาวเจิมที่รูปหล่อให้เห็นเป็นสัญลักษณ์ป้องกันไม่ให้กรรมการนำมาปลุกเสกซ้ำอีกครั้งหนึ่ง
หลวงพ่อชอบโขนสด
เมื่อมีเวลาหลวงพ่อจะชักชวนชาวบ้านและเด็กวัดมาหัดโขนเป็นประจำ ท่านจะเป็นผู้สอนเอง มีนายเยื้อน โพธิ์หมวก กับนายบัวหลง ถ้วยแก้ว เป็นผู้ช่วยฝึกสอน หลังจากที่ท่านมรณภาพแล้ว ประชาชนทั้งใกล้และไกลที่มีปัญหาเดือดร้อนมาขอพรหลวงพ่อให้ช่วยปัดเป่า หลังจากได้ตามที่ขอไว้ในสิ่งที่ตนบอกกล่าว จะมีการนำโขนสดมารำหน้าโลงศพถวายให้กับหลวงพ่อ (หลวงพ่อพรหม ถาวโร, 2557)
การปลุกเสกวัตถุมงคลของหลวงพ่อพรหม
วัตถุมงคลของหลวงพ่อพรหม ท่านปลุกเสกเดี่ยวเพียงองค์เดียว กล่าวกันว่า วัตถุมงคลทุกรุ่นล้วนมีพุทธคุณสูงส่ง ท่านลงด้วยธาตุทั้งสี่ปลุกเสกให้วัตถุมงคลเหมือนมีชีวิต มีอานุภาพคุณวิเศษเกิดขึ้นมา ครึ่งหนึ่งในการปลุกเสกวัตถุมงคลปี 2515 หลวงพ่อนำวัตถุมงคลใส่ไว้ในบาตร แล้วจุดเทียนชัยบริกรรมคาถาวน 9 รอบ แล้วใช้ดินสอพองเจิมที่วัตถุมงคล หลวงพ่อใช้มือคนไปทั่ว ลืมตาเพ่งกระแสจิตบริกรรมภาวนา จากนั้นจึงนำน้ำพระพุทธมนต์พรมอีกครั้งเป็นอันเสร็จพิธี ในการปลุกเสกนั้นท่านมักเปรยให้ศิษย์ใกล้ชิดฟังว่า ท่านปลุกเสกลงให้หมดทุกทาง ทั้งทางคงกระพันมหาอุด เมตตามหานิยม ทำมาค้าขายโชคลาภดี ขอให้ผู้นำไปใช้มีศีลมีธรรมอันดีก็ย่อมบังเกิดผลช่วยคุ้มครองป้องกันภัยและเป็นสิริมงคลร่มเย็นแก่ชีวิตตลอดไป
ประสบการณ์จากการพกพาบูชาวัตถุมงคลหลวงพ่อพรหมมีความหลากหลายมาก นอกจากแคล้วคลาด อยู่ยงคงกระพัน ก่อเกิดโชคลาภเมตตามหานิยมแล้ว ยังมีพลานุภาพพิเศษบางประการที่ยากจะหาได้ในพระประเภทอื่น นั่นคือ ใช้ป้องกันฟ้าผ่าและไฟฟ้าได้ เคยมีผู้พกพาพระผง รูปเหมือนของท่าน แล้วถูกฟ้าผ่าแต่กลับ ไม่ได้รับอันตรายใด ๆ จนเป็นที่มาของชื่อพระรุ่น “พระผงรูปเหมือน รุ่นฟ้าผ่า”
ภาพวัตถุมงคลหลวงพ่อพรหม พระผงรูปเหมือน รุ่นฟ้าผ่า
คำกล่าวบูชา
ตั้งนะโม 3 จบ
พรหมมา อาราธนานัง เมตตา สุคะตะ มหาลากัง สัพเพปิอันตะรายา เม มะเหสุง ปะสิทธิเม
จุดนำเที่ยวตามความเชื่อความศรัทธาภายในวัดช่องแค

วิหารหลวงพ่อพรหม

วิหารพระพุทธไสยยาสน์โลกะวิทูศรีศากนยมุนี

ถ้ำหลวงพ่อ